top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนnangfah xinwen

ฤา! จะให้นั่งสมาธิ สั่งงดใช้เสียง

อัปเดตเมื่อ 7 พ.ค. 2562

พนักงาน "คัมแบ็ก" ร้องโดนทุบหม้อข้าว


พนักงานสถานบันเทิง “คัมแบ็ก” กว่า 50 ชีวิตถือป้ายบุกศาลากลาง จ.ตรัง หลังเทศบาลนครตรังสั่งงดใช้เสียงต้องปิดบริการ เพราะถูกร้องเรียนส่งเสียงดังรบกวน ชี้ต้องตกงาน ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว...

ที่บริเวณหน้าศาลากลาง จ.ตรัง วันที่ 11 ม.ค.62 พนักงานสถานบันเทิง ร้านคัมแบ็ก (Comeback trang) กว่า 50 คน ถือป้ายออกมาร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อ นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผวจ.ตรัง ให้ทบทวนหลังจากเทศบาลนครตรังมีคำสั่งห้ามใช้เสียงรบกวนระงับเหตุส่งเสียงดังรำคาญ โดยให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญทางเสียงให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน และในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้หยุดการใช้เสียง ตามที่ทางสำนักงานเทศบาลนครตรัง มีหนังสือที่ ตง 52010/37 ลงวันที่ 4 มกราคม 2562 ทำให้พนักงานทั้งหมดต้องตกงานขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว

หลังจากที่ทางร้านได้รับหนังสือทำให้ต้องเลิกเล่นดนตรี ลูกค้าไม่มาเข้าใช้บริการ ดังนั้นทางร้านก็ต้องปิดกิจการลง ทางร้านได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง และยังได้จ้างบริษัทเอกชนมาวัดเสียงก็ไม่เกิน ทั้งนี้ทราบว่าผู้ที่ร้องเรียน คือ นายปิยวุฒิ พุฒนวล ร้องเรียนในหลายเรื่อง เช่น เรื่องเสียงดัง ร้านนี้ไม่ใช่ร้านอาหารแต่เป็นสถานบันเทิง เรื่องกักตุนอาหาร รถจอดเส้นขาวแดง ซึ่งทางร้านได้แก้ไขหมดแล้ว แต่ทำไมทางจังหวัดโดยเฉพาะเทศบาลนครตรัง จึงมีคำสั่งห้ามใช้เสียงอีก ทำให้เจ้าของร้านต้องปิดบริการ พนักงานกว่า 70 ชีวิตต้องตกงาน ทุกคนมีครอบครัวต้องเลี้ยงดู

น.ส.เกศศิรินทร์ ใชยชาญ หรือ เจ้หญิง อายุ 45 ปี นักร้องประจำร้าน ในฐานะตัวแทนพนักงานร้านคัมแบ็ก ได้ยื่นหนังสือต่อ นายณัฐวุฒิ สังข์สุข ป้องกันจังหวัดตรัง เป็นตัวแทน ผวจ.ตรัง ลงมารับหนังสือร้องทุกข์ พร้อมกล่าวว่า หนังสือคำสั่งที่ส่งมาบอกว่าร้านเปิดได้แต่ห้ามใช้เสียง แต่ร้านอาหารมีดนตรีจะให้แจ้งลูกค้าว่ามานั่งสมาธิหรือนิมนต์พระมาเลย เราต้องการเปิดอย่างถูกต้องไม่ใช่มาจับจอดรถเส้นขาวแดงตอน 3-4 ทุ่ม ตนต้องการความยุติธรรมว่ามันคืออะไร ลูกค้าในร้านก็ไม่เคยมีการทะเลาะวิวาทหรือยิงกัน ตนอยากรู้ว่าที่ร้านทำผิดอะไร ต้องการอะไร ต้องการความจริง ความยุติธรรมว่ามันเกิดจากอะไร

ตัวแทนพนักงานร้านคัมแบ็ก กล่าวต่อว่า กลุ่มลูกจ้างต้องการคำตอบว่า ถ้าปิดร้าน 30 วัน พนักงานจะอยู่กันอย่างไร มีอะไรรองรับให้พนักงานบ้างสามารถชดเชยให้ได้หรือไม่ พนักงานต้องส่งลูกไปเรียน ลูกจะต้องกินนมต้องส่งเสียเลี้ยงดู อยากรู้ว่าทำไมที่ร้านจึงมีปัญหามาตลอด ที่ร้านมีประตูปิดแต่ร้านอื่นเปิดโอเพ่น พนักงานในร้านงง เดี๋ยวสรรพสามิต เดี๋ยวฝ่ายปกครอง ทำงานมา 30 กว่าปี ไม่เคยเจอที่ไหนมีที่เดียวประเทศตรัง เปิดมา 1 ปี ปิดไป 3 เดือน พนักงานรากเลือดไม่มีจะกิน ปิดๆ เปิดๆ 3-4 รอบแล้ว ต้องการให้ร้านเปิดตามปกติเพราะทุกคนต้องทำงาน

ขณะที่ น.ส.ชรินทร์ธร มากชู หรือเจ๊ก้อย อายุ 38 ปี เจ้าของร้าน กล่าวว่า การจะไปเปิดสถานที่แห่งใหม่ การระดมทุน การก่อสร้างใช้เวลาเป็นปี เพราะฉะนั้นตนก็ไม่อยากให้ทุกคนฝากชีวิตฝากอนาคตไว้กับตน หากทุกคนมีงานใหม่หรือสามารถหางานใหม่ได้ก็แนะนำว่าเอาตัวเองให้รอดก่อน หยุดร้านมา 2 รอบแล้วตั้งแต่มีหนังสือสั่งระงับการใช้เสียง สำหรับเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเงียบนั้นมันเงียบด้วยตัวของมันเองด้วยเศรษฐกิจของจังหวัดเอง แต่เนื่องจากมีการตรวจสอบถี่ ลูกค้าก็หงุดหงิดใจเวลามานั่งใช้บริการ มาถึงวันนี้ตนเองมั่นใจว่าทำดีที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่ได้ยืนกรานที่จะทำผิดอะไร

เจ้าของร้าน กล่าวอีกว่า ทุกครั้งที่มีเรื่องผิดโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ รู้กฎหมายจริงไม่รู้กฎหมายจริงมาถึงจุดนี้ที่ไม่รู้อะไรมาเยอะก็แก้ทุกอย่างตามที่เขาให้แก้ทุกเรื่อง สั่งให้ปิดก็ปิด ตนเองทำอาชีพนี้มาเกือบ 20 ปี แล้ว มันก็ยากที่จะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น สายป่านมันก็มาสายนี้โดยเฉพาะ ทีมงานที่อยู่กันมาเกือบ 10 ปีก็เยอะ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มนักดนตรี มันก็ยากกับการหางานในจังหวัดตรัง โดยเฉพาะคนล้างจาน อายุเยอะไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ และยังต้องหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งตนก็ต้องไม่ทิ้งคนเหล่านี้ แต่ว่าในวันนี้เราแบกกันไม่ไหวอยู่

ส่วน นายปฤษฎี ไชยภักดี หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.ตรัง กล่าวว่า หลังจากที่เรียกทุกฝ่าย อย่างจังหวัด นิติกร สาธารณสุข ยุติธรรม ศูนย์ดำรงธรรม เข้าร่วมพูดคุย ได้รับรายงานว่าได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะพนักงานของร้าน โดยวันนี้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นแนะนำให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งทางร้านได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ คสช.ทางร้านก็มีสิทธิอุทธรณ์ 30 วัน ซึ่งต้องอุทธรณ์กับผู้ออกคำสั่งคือทางเทศบาล ส่วนผู้ประกอบการและพนักงานของรัฐที่มาวันนี้ก็ได้รับทราบแนวทางต่างๆ ก็จะดำเนินการในส่วนที่ขอร้อง ซึ่งทุกภาคส่วนได้ช่วยแก้ไขปัญหากันเป็นอย่างดีและเข้าใจ จะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า อย่างไรก็ตามในการที่พนักงานสถานบันเทิงได้มาชุมนุมหน้าศาลากลาง จ.ตรัง ครั้งนี้ ได้มีฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน.ตรัง ตำรวจสืบสวน สภ.เมืองตรัง และตำรวจสันติบาล ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ได้มาสังเกตความเคลื่อนไหวการชุมนุมอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะเชิญตัวแทนผู้ชุมนุม 10 ราย มาร่วมกันหารือ โดยห้ามสื่อมวลชนบันทึกเสียงและภาพแต่อย่างใด นานประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนที่ทุกฝ่ายจะออกจากห้องประชุมแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยอมสลายตัวไปในที่สุด โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด.

ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page